การจูบปาก และทักทายด้วยลิ้นในวัฒนธรรมชาวทิเบต กับการตีความ “ดาไลลามะ” ตามมุมมองตะวันตก

ดาไลลามะ
  • โลกโซเชียลแชร์คลิปวิดีโอองค์ดาไลลามะ จูบปากเด็กผู้ชายคนหนึ่ง และยังขอให้เด็กผู้ชายคนนี้ดูดลิ้นของพระองค์ แม้ว่าพระองค์จะออกมาขอโทษและบรรดาลูกศิษย์ได้ออกมาปกป้องพฤติกรรมนี้ แต่บรรดาผู้ที่นับถือศรัทธาหลายคนยังตกใจและสับสนกับภาพที่เห็น
  • บรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชนในทิเบตต่างออกมาตั้งคำถาม ประณามการกระทำของดาไลลามะ และเปรียบเทียบว่าเป็นการเข้าข่ายละเมิดต่อเด็ก 
  • ด้านนักเคลื่อนไหวชาวทิเบตมองว่า การเอามุมมองของวัฒนธรรมตะวันตก และวัฒนธรรมอื่นๆ ตลอดจนความเป็นไปทางสังคมอื่นมาตีความชาวทิเบต เป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างยิ่ง  

กลายเป็นกระแสร้อนในโลกโซเชียล จากกรณีการเผยแพร่คลิปวิดีโอองค์ดาไลลามะ ที่ทำให้บรรดาผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือด บางคนบอกว่าเป็นภาพที่น่าขยะแขยง และหลายคนบอกว่า ตกใจสุดขีดที่เห็นการกระทำของผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต นับได้ว่าเป็นภาพที่สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้นับถือศรัทธา และทำให้ต้องกลับมาหาข้อเท็จจริงว่า การจูบปากและทักทายด้วยลิ้นมีจริงหรือไม่ในวัฒนธรรมชาวทิเบต

“ดาไลลามะ” หรือ “ทะไลลามะ” เป็นองค์ประมุขหัวหน้าคณะสงฆ์ศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบทิเบตเกลุก หรือที่เรียกว่า ศาสนาพุทธแบบทิเบต (Tibetan Buddhism) ชาวทิเบตเชื่อว่าทรงเป็นอวตารในร่างมนุษย์ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เมื่อมรณภาพแล้วก็จะกลับชาติมาเกิดวนไป

ชาวทิเบตเคารพนับถือพระองค์เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณ ตำแหน่งทะไลลามะนั้นมาจากภาษามองโกเลีย 2 คำมารวมกัน คือ “ดาไล” (Dalai) ที่มีความหมายถึงท้องทะเล มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ และ “ลามะ” (Lama) คือพระชั้นผู้ใหญ่ผู้มีปัญญา 

ส่วนดาไลลามะองค์ปัจจุบัน เป็นองค์ที่ 14 มีพระนามว่า แต็นจิน กยาโช ทรงขึ้นรับตำแหน่งตามกระบวนการสรรหาดาไลลามะองค์ก่อน ผู้ที่กลับชาติมาเกิดในร่างเด็กชาย นอกจากเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตแล้ว

พระองค์ยังเป็นตัวแทนการต่อสู้เพื่อผืนแผ่นดินและประชาชนชาวทิเบตมาอย่างยาวนาน พระองค์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ.2532 ขณะที่รัฐบาลจีนตราหน้าว่าเป็นผู้นำการเรียกร้องแบ่งแยกดินแดน เขตปกครองตนเองทิเบต ออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ต้องทรงลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่เมืองธรรมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ ของอินเดีย 

ดาไลลามะ

คลิปวิดีโอสุดช็อกและคำขออภัยจากดาไลลามะ

คลิปวิดีโอนี้ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อช่วงประมาณวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความตกใจของหลายฝ่าย แสดงให้เห็นว่าขณะที่อยู่ในงานพิธีทางศาสนาที่วัดดาไลลามะ ซึ่งมีผู้คนจำนวนมาก ได้มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้าไปหาองค์ดาไลลามะ จากนั้นทรงกอดเด็กผู้ชาย แล้วจูบปากเด็ก ก่อนที่จะทรงกล่าวว่า ให้เด็กดูดลิ้นของพระองค์ ท่ามกลางสายตาคนจำนวนมาก และมีเสียงปรบมือดังขึ้น องค์ดาไลลามะดูยิ้มแย้ม ทำเหมือนเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้ดูละอายกับสิ่งที่เกิดขึ้น

คลิปวิดีโอนี้ทำให้หลายคนสงสัยว่าทรงทำอะไรกันแน่ และการจูบปากแบบในคลิปนี้เป็นการทักทายแบบปกติตามธรรมเนียมของชาวทิเบตหรือไม่ และการกระทำของดาไลลามะต่อเด็กชายมีความเหมาะสมหรือไม่

ขณะที่องค์ดาไลลามะเผยแพร่แถลงการณ์ผ่านทวิตเตอร์ของพระองค์ ที่มีผู้ติดตามประมาณ 19 ล้านคน โดยระบุว่า คลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ออกไปแสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่เด็กชายเข้าเฝ้าดาไลลามะอย่างใกล้ชิด เด็กน้อยได้ขอเข้าไปกอดพระองค์ โดยทรงขอโทษต่อเด็กชายและครอบครัวของเขา รวมไปถึงมิตรสหายทั่วโลก ที่รู้สึกเจ็บปวดจากถ้อยคำของพระองค์

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังระบุว่า ดาไลลามะมักจะปฏิบัติต่อผู้คนที่พบเจอด้วยความสดใสและบริสุทธิ์ แม้แต่ในที่สาธารณะและต่อหน้ากล้องก็ตาม

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนในทิเบตต่างออกมาประณามการกระทำของดาไลลามะ และเปรียบเทียบว่าเป็นการละเมิดต่อเด็ก ขณะที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวทิเบตบางคนออกมาบอกว่า นี่เป็นเรื่องตลก และองค์ดาไลลามะถูกโจมตีจากการที่พระองค์แสดงออกในแบบของชาวทิเบต

ทาวา เซอริง สมาชิกสภาชาวทิเบตพลัดถิ่น ในเมืองธรรมศาลา เล่าเหตุการณ์ว่า ในตอนนั้น เด็กเดินเข้ามาถามพระองค์ว่า ขอกอดพระองค์ได้ไหม ดาไลลามะผู้ร่าเริงทรงตอบว่า ได้ แล้วถามเด็กว่า ขอจูบได้ไหม แล้วก็ทรงจูบเด็ก จากนั้นทรงถามเด็กต่อว่า ดูดลิ้นพระองค์ได้ไหม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเล่นตลกขำขันของพระองค์ และเป็นการหยอกล้อต่อคำกับเด็ก ซึ่งเราไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์กันไปใหญ่โต 

ด้าน นัมดอล ลากยารี นักเคลื่อนไหวชาวทิเบตพลัดถิ่นกล่าวว่า ทุกวันนี้การแสดงออกทางอารมณ์ของคนเรา ถูกผสมผสานปนเปกันจนเป็นไปตามวัฒนธรรมตะวันตก และการเอามุมมองของวัฒนธรรม ตลอดจนความเป็นไปทางสังคมอื่นมาตีความชาวทิเบต เป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างยิ่ง 

“แลบลิ้น ดูดลิ้น และจูบปาก” อาจเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของทิเบต

วัฒนธรรมการทักทายและแสดงความเคารพของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ของทิเบตนั้นมีตำนานเล่าขานว่า ในสมัยศตวรรษที่ 9 พระเจ้าลัง ทาร์มา (Lang Darma) ผู้มีลิ้นสีดำ เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองทิเบตด้วยความโหดเหี้ยมทารุณ ขณะที่ชาวทิเบตมีความเชื่อในเรื่องของการตายแล้วกลับชาติมาเกิด

เมื่อวันหนึ่ง พระเจ้าลัง ทาร์มา สิ้นพระชนม์ ผู้คนก็หวาดกลัวการกลับชาติมาเกิดของพระองค์ และเมื่อเวลาไปที่ไหนผู้คนก็มักจะแลบลิ้นให้กัน เพื่อให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้มีลิ้นสีดำ ไม่ได้เป็นกษัตริย์ผู้โหดร้ายกลับชาติมาเกิด การแลบลิ้นและดูดลิ้นอาจกลายเป็นวัฒนธรรมการทักทาย และการแสดงการยอมรับของผู้คนเมื่อเวลาผ่านไป

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ แม้แต่บรรดาผู้นำศาสนาพุทธทิเบต ก็ไม่ได้ออกมากล่าวยืนยันแน่ชัดว่า การแลบลิ้นดูดลิ้นแบบนี้ว่าเป็นวัฒนธรรมของชาวทิเบตจริงหรือไม่. 

ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล : Independent CNN