เรื่องเล่าชายขอบเมืองนครศรีธรรมราช

เรื่องเล่าชายขอบเมืองนคร

บทที่ ๔.

ต้นคิดพระบรมธาตุเจดีย์สู่มรดกโลก-กับ ๑๐ ปีเอกสารนำเสนอจะรุ่งหรือร่วง
แต่ที่แน่ๆ วิถีควายน้ำพัทลุงเป็นมรดกโลกไปแล้ว

ข้อตกลง
ข้อเขียนเรื่องเล่านี้มีเจตจำนงค์บอกเล่าถึงความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสู่การเป็นมรดกโลก” มุ่งหมายบันทึกเรื่องเล่าไว้จากมุมเล็กๆมุมหนึ่งที่เผอิญมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลข่าวสารขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์ สำหรับนามของท่านที่ปรากฎในบทความนี้ขอบันทึกไว้เพื่อเป็นเกียรติ และต้องขออภัยสำหรับบางแง่มุม บางประเด็นที่อาจสร้างความขุ่นเคืองให้ผู้ใดก็ตาม มิได้มีเจตนาประสงค์เช่นนั้น
///

๑๐ กว่าปีล่วงมาจนถึงเวลานี้ (๑๗ มกราคม ๒๕๖๖) ประโยคคุ้นชินที่ว่า “พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสู่การเป็นมรดกโลก” หาใช่เรื่องตื่นเต้นอีกแล้วเงื่อนเวลา ๑๐ ปีที่รัฐบาลไทย จะต้องนำเสนอเอกสารความสำคัญขององค์พระบรมธาตุเจดีย์สู่การเป็นมรดกโลกต่อ UNESCO จะหมดเวลาลงในอีก ๔-๕ เดือนนับจากนี้ หากไม่เสร็จ หรือต่อเวลาไม่ได้นั่นหมายความว่า ความพยายามในการผลักดันพระมหาเจดีย์องค์นี้ให้กลายเป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติจะจบลงแล้ว ท่ามกลางความสนุกสนานสำราญของการใช้จ่ายงบประมาณของหลายหน่วยงานด้วยการสร้อยห้อยท้ายด้วยความยิ่งใหญ่ว่า “ส่งเสริมพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสู่การเป็นมรดกโลก” หลายโครงการพังแล้วพังเล่า

เรื่องแรกสิ่งที่อยากจะเล่าไว้เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านเจ้าของแนวคิดผู้จุดประกาย “นำเสนอพระบรมธาตุเจดีย์สู่การเป็นมรดกโลก” ผมรับฟังแนวคิดนี้ครั้งแรกจาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนผู้ล่วงลับ เรื่องมีอยู่ว่าราวเกือบ ๒๐ ปีก่อน วันนั้นการเมืองในนครศรีธรรมราชคึกคักมาก การก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ครั้งแรกในสนามการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๑ นครศรีธรรมราช ในส่วนของประชาธิปัตย์ มีการเสนอตัวคุณฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนตัวเป็น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประมาณนี้ท่านได้นัดแถลงข่าว ที่อาคารพาณิชย์ริมถนนพัฒนาการคูขวาง ติดกับซอยหมู่บ้านพิกุลแก้ว น่าจะยังจำกันได้ดีขณะนั้นอาคารพาณิชย์เป็นสำนักงานของเขตเลือกตั้งที่ ๑ พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันอาคารหลังนั้นเป็นร้านสะดวกซื้อไปแล้ว

วงสนทนาวันนั้นเริ่มต้นมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ คุณสายันต์ ยุติธรรม (ขออภัยที่เอ่ยนาม) เป็นคนใกล้ชิดและเลขานุการ ดร.สุรินทร์ มีพี่แหวน (ขออภัยจำชื่อจริงไม่ได้) ผู้ติดตาม ดร.สุรินทร์อีกท่าน มีผม และพี่ๆในวงการข่าวสารอีก ๓-๔ ท่าน เริ่มจากการนั่งดื่มกาแฟสนทนากันก่อนที่ท่านจะเล่าเรื่องราวการต่างประเทศ และท่านได้วกมาเรื่องการเสนอนำเสนอมรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศบางประเทศ (ผมจำไม่ได้ว่าประเทศใด) แต่หลักการสำคัญในการเสนอคือ ภาคประชาชนเป็นผู้นำเสนอ ท่านโยนประเด็นนี้ว่า “นครศรีธรรมราช มีองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่ทรงคุณค่ายิ่งในโลกนี้ ทำไมไม่ช่วยกันนำเสนอกันให้เป็นมรดกโลก” ท่านกล่าวทำนองนี้ นั่นคือครั้งแรกที่ผมได้ยินแนวคิดนี้ ครั้งนั้นเป็นข่าวด้วยซ้ำแต่ข้อมูลข่าวสารสมัยนั้นไม่รวดเร็วเท่ากับสมัยนี้ส่วนใหญ่อยู่แค่ในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วก็หายไป

ทว่าแนวคิดนั้นยังอยู่ต่อมาและถูกส่งต่อมาถึงคณะทีมผู้ก่อการในยุคแรกนักสื่อสารมวลชน นักเขียนอาวุโส โดยมีภาคราชการที่รับช่วงต่อกันอย่างคึกคักในขณะนั้น ยุคแรกๆในนาม “สำนักข่าวนครโพสท์” ก่อร่างสร้างเป็นแคมเปญการรณรงค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสู่มรดกโลก หลายแคมเปญภาคราชการเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน เป็นแม่งานสุดในขณะนั้นคงจะไม่พ้น นายภาณุ อุทัยรัตน์ ครั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการนครศรีธรรมราช ได้สนับสนุนในหลายๆด้านแน่นอนงบประมาณจากภาครัฐ ส่วนแนวคิดการนำเสนอเป็นการเสนอโดยภาคประชาชนครั้งแรกของประเทศไทยนับว่าได้ ขั้นตอนเข้าสู่กระบวนการตามลำดับ

ถึงตรงนี้ ขอบคุณที่กรุณาอ่านและเรื่องจะเล่าต่อนั้น เมื่อมาถึงการขึ้นทะเบียนรอการเป็นมรดกโลกแล้วนั้น ต่อมาราวปี ๕๔ มีขั้นตอนสำคัญคือจะต้องทำเอกสารนำเสนอเพื่อพิจารณา นับจากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องแล้วหลายชุดที่ถึงแก่กรรมไปแล้วก็มี ที่ชราภาพแล้วก็มาก คนรุ่นใหม่ๆก็มากที่เข้ามาในปัจจุบัน หลักใหญ่ใจความเอาตามความรู้ที่พอจะมีอยู่บ้างของผมเกี่ยวกับเอกสารที่จะต้องทำคือ การตอบโจทย์ต้องอธิบายความว่าพระบรมธาตุเจดีย์เป็นปูชนียสถานที่มีอายุนาวนานมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างไร มีการดำรงอยู่หรือ “การมีชีวิต”มาจนถึงปัจจุบันอย่างไร ตามคุณสมบัติที่ต้องตามคุณลักษณะของการเป็นมรดกโลก

ส่วนตัวแล้วมีข้อสังเกต และมุมเสนอวิพากษ์ที่ว่าคณะผู้จัดทำเอกสารหรือจะเรียกว่าคณะอะไรสุดแท้แต่จะรังสรรค์กัน อันที่จริงการประกอบร่างสร้างเป็นเอกสารในการนำเสนอควรประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อัตลักษณ์ความเป็นมรดโลกของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลป์ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาวัฒนธรรม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ หรืออาจเพิ่มนักบริหารจัดการแผนบริหารพื้นที่เข้าไปตามที่จะแตกกอแตกหน่อประเด็น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ปรากฏตัวเป็นที่ประจักษ์อยู่ในแวดวงอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนั้นยังไม่เห็นจริงๆ การประกอบสร้างเอกสารนำเสนอมรดกโลกอาจหาใช่เรื่องยากและล่วงเลยยาวนานเช่นนี้ไม่

มาถึงวันนี้คำเปรียบเปรยที่ว่า “ถูลู่ถูกัง”น่าจะไม่เกินจริงกระมัง กับเวลาที่ใกล้จะจบลงครบตามเงื่อนไข ๑๐ ปี เวลานี้เรายังไม่เสร็จนี่คือสิ่งที่ต้องยอมรับ ขณะที่ควายน้ำพัทลุงได้เป็นมรดกโลกไปแล้ว อันนี้ไม่ทราบความจริงๆว่ามีการทำเอกสารกันอย่างไรหรือไม่

ถึงตรงนี้ขอบคุณที่กรุณาอ่านยาวๆจริงๆแล้วหาได้ยากที่จะมีคนอ่านข้อเขียนยาวๆผ่านโซเชียลมีเดียเช่นปัจจุบัน ข้อเขียนเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้จะทยอยเล่าอย่างต่อเนื่องในหลายๆมุม หลายเรื่องที่ไม่เคยถูกเปิดเผยในวงกว้างมากนัก ส่วนพระบรมธาตุเจดีย์ด้วยความพยายามในการเป็นมรดกโลกในขั้นตอนสุดท้ายที่เรียกว่า “ถูลู่ถูกัง”คงไม่ผิด แต่กระนั้นไม่ได้กล่าวโทษผู้ใด ไม่มีสิ่งใดผิดหรือถูกในการนี้ ที่เล่ามานั้นแค่อารมย์อิจฉาวิถีชีวิตควายน้ำพัทลุง เผอิญกลายเป็นมรดกโลกไปก่อนหน้าพระบรมธาตุเจดีย์ของเราไปเสียนั่น แต่ทั้งหมดนั้นเราต่างต้อง “ขอบคุณ”ในความพยายามของทุกๆคน ส่วนเราๆคงจะต้องเอาใจช่วยกันต่อไป ครับ….

ตักบาตรหน้าวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช

ภาพประกอบ
ภาพนี้บันทึกไว้เมื่อคราวริเริ่มตักบาตรวันอาทิตย์ครั้งแรกๆ แนวคิดการตักบาตรทุกอาทิตย์ตั้งต้นมาจาก คุณวิทยา แก้วภราดัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ข้อเขียนบันทึกเมื่อ
๑๑.๐๗ น.
๑๗ มกราคม ๒๕๖๖
……

CR. Krishanah Thiwatsirikul